Keurig K-Mini Single Serve K-Cup Pod Coffee Maker, Poppy Red

Google

Wednesday, October 21, 2009

Agency For International Development (AID)

หน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศ (เอไอดี)

หน่วยงานกึ่งอัตโนมัติที่ปฏิบัติงานเป็นองค์ประกอบหนึ่งของหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศ (ไอดีซีเอ) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1979 เอไอดีขณะนี้ขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการของไอดีซีเอ และทำหน้าที่บริหารความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจและด้านเทคนิค โดยประสานโครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนความมั่นคงและอำนวยการทางด้านเศรษฐกิจของโครงการอาหารเพื่อสันติภาพ หากเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับผู้อำนวยการของไอดีซีเอเกี่ยวกับนโยบายการให้ความช่วยเหลือ ก็ให้ประธานาธิบดีเป็นผู้ตัดสิน

ความสำคัญ นับตั้งแต่ยุคที่ได้มี "แผนมาร์แชล" เป็นต้นมา ได้เกิดปัญหาการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างโครงการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศกับกระทรวงการต่างประเทศ การจัดระบบเกี่ยวกับเรื่องนี้จะมีลักษณะกวัดแกว่ง คือ ทางหนึ่งก็ต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศควบคุมนโยบายต่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจ แต่อีกทางหนึ่งก็ไม่ต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศ เข้าไปมีส่วนในด้านปฏิบัติการในต่างประเทศของนโยบายดังกล่าว ในทำนองเดียวกันนี้ก็ได้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ทางด้านการบริหารระหว่างโครงการให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจกับโครงการให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหาร บทบาทของเอไอดีที่อยู่ภายใต้การกำกับของไอดีซีเอนี้มีลักษณะเป็นการประนีประนอม คือ มีบทบาท (1) เน้นใช้แผนพัฒนาระยะยาว (2) รับผิดชอบในเชิงปฏิบัติการ (3) ประสานโครงการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ เมื่อได้จัดตั้งไอดีซีเอเป็นหน่วยงานอิสระแต่ให้ผู้อำนวยขึ้นต่อรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศเช่นนี้ พวกผู้เชี่ยวชาญทางด้านบริหารเชื่อว่า พวกตนสามารถแก้ปัญหาในเรื่องที่ว่าควรจะเอาเอไอดีไปไว้ที่ไหนได้ ในทางปฏิบัตินั้น ไอดีซีเอและกระทรวงการคลังจะทำงานใกล้ชิดกับ (1) สหประชาชาติ (2) องค์การรัฐอเมริกา (โอเอเอส) (3) กลุ่มธนาคารโลก (ไอบีอาร์ดี) (4) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (5) ธนาคารพัฒนาในระดับภูมิภาคต่าง ๆ ในการให้การสนับสนุนเพื่อให้บรรลุถึงความทันสมัยของประเทศที่กำลังพัฒนา ในช่วงทศวรรษ 1980 เอไอดีมีผู้แทนถาวรประจำอยู่ในประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในแบบทวิภาคีจากสหรัฐอเมริกามีจำนวนถึง88 ประเทศ

Alliance for progress

พันธมิตรเพื่อความก้าวหน้า

โครงการพัฒนาระยะ 10 ปีสำหรับภูมิภาคละตินอเมริกา ที่เสนอแนะโดยประธานธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี และได้รับการจัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1961ที่เมืองปุนตา เดล เอสเต ประเทศอุรุกวัย โดยประเทศสาธารณรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริการทุกประเทศยกเว้นประเทศคิวบา แผนพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้านี้เป็นการรวมพลังความพยายามที่จะสนองความต้องการที่จะสร้างความทันสมัยให้เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยวิธีให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและการช่วยตนเองไปพร้อม ๆ กัน สหรัฐอเมริกาคาดการณ์ไว้ว่าในช่วงที่ดำเนินโครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าระยะเวลา 10 ปี จะมีเงินทุนจากภาครัฐบาลและภาคเอกชนไหลเข้าไปมีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักลงทุนภาคเอกชนของประเทศที่มีทุนเหลือเฟือภายนอกภูมิภาค อย่างไรก็ตามประเทศผู้เข้าร่วมโครงการได้ให้การรับรองว่า ในที่สุดแล้วประเทศในแถบละตินอเมริกาเองก็จะต้องออกเงินสมทบอีก 4 เท่าตัวของเงินจำนวนดังกล่าว เพื่อจะให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ โครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าเรียกร้องดังนี้ (1) ให้มีการวางแผนในระดับภูมิภาคโดยคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและสังคมระหว่างรัฐในทวีปอเมริกา และโดยคณะกรรมการพัฒนาระหว่างรัฐในทวีปอเมริกา (2) ให้มีการร่วมมือและมีบูรณาการทางเศรษฐกิจ (3) ให้สร้างเสถียรภาพแก่ราคาสินค้าส่งออก (4) ให้ปฏิรูปที่ดินและภาษี (5) ให้พัฒนาอุตสาหกรรม และ (6) ให้ปรับปรุงสุขอนามัยและโอกาสทางการศึกษา

ความสำคัญ โครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้านี้เข้าลักษณะ ”ท่าดีแต่ทีเหลว”เป็นไปอย่างอืดอาดยืดยาดในท่ามกลางการทะเลาะเบาะแว้งและสาดโคลนเข้าใส่กัน ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็สามารถอธิบายได้ว่า มาจากโครงการ ฯ มีภารกิจกว้างใหญ่ไพศาลเป็นการเรียกร้องให้มีการปฏิวัติทางสังคมและเศรษฐกิจทั่วทั้งทวีปอเมริกาเลยทีเดียว ในสหรัฐอเมริกาการคัดค้านโครงการนี้มาจากพวกที่คัดค้านการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ ส่วนในละตินอเมริกาเองพวกหัวเก่าก็ไม่อยากให้มีการปฏิรูปเกิดขึ้น เพราะหากมีการปฏิรูปก็จะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียสถานภาพของตนไป ในขณะเดียวกัน ทั่วทั้งพื้นที่ในละตินอเมริกาก็มีอัตราการเพิ่มของประชากรอยู่ในระดับสูงมาก เป็นตัวกระตุ้นให้ต้องดำเนินการสร้างความทันสมัยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ข้างฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็ยังคงให้ความช่วยเหลือในระดับปานกลาง ภายในกรอบปรัชญาทั่วไปของโครงการ

Bipartisanship

ภาวะปรองดองระหว่างสองพรรค

ความมีเอกภาพระหว่างพรรคการเมืองในการแก้ปัญหาสำคัญของนโยบายต่างประเทศสหรัฐ ฯ ภาวะปรองดองระหว่างสองพรรคตั้งอยู่บนรากฐานของแนวความคิดของความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค (กล่าวคือ พรรคดีโมแครตและพรรครีพับลิกัน) ในสภาคองเกรส และระหว่างประธานาธิบดีกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน สมมติฐานของภาวะการปรองดองระหว่างสองพรรค ก็คือ เมื่อยามที่เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชาติ การเมืองในแบบพรรคใครพรรคมันก็จะต้องยุติลงในทันที เพื่อแสดงให้โลกภายนอกได้เห็นว่ามีความปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ความสำคัญ ภาวะปรองดองระหว่างสองพรรคประสบความสำเร็จในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและในช่วงที่เกิดการแข่งขันกันในสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงใหม่ ๆ ระบบรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ฯ ที่เป็นแบบแบ่งแยกอำนาจและมีการคานดุลระหว่างกันนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติได้ ซึ่งหากว่าไม่มีภาวะปรองดองระหว่างสองพรรคนี้เสียแล้ว ก็จะทำให้นโยบายต่างประเทศเป็นอัมพาตไปได้ ในที่สุดระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็จะมีการเลือกระหว่างทางสองแพ่ง คือ หนทางหนึ่งเป็นการยึดหลักการเมืองแบบพรรคใครพรรคมัน กล่าวคือ พรรคใดเป็นฝ่ายค้านพรรคนั้นก็จะทำหน้าที่ค้านอย่างเต็มที่ กับอีกหนทางหนึ่ง คือ ยึดความสามัคคีปรองดองภายในชาติ ที่เป็นประชาธิปไตยน้อยแต่ทว่ามีสมานฉันท์ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหานโยบายต่างประเทศ การที่ภาวะปรองดองระหว่างสองพรรคสำเร็จได้นั้น พรรคเสียงข้างน้อยจะต้องเกิดความรู้สึกว่าฝ่ายตนได้รับ "การปรึกษาหารือ" มิใช่เพียง "ได้รับการแจ้งให้ทราบ" เกี่ยวกับการตัดสินใจในนโยบาย

Bricker Amendment

บริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์

ข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ที่เสนอในสภาครองเกรสโดยวุฒิสมาชิก จอห์น บริกเกอร์ แห่งมลรัฐ โอไฮโอ เมื่อปี ค.ศ. 1953 และปี ค.ศ. 1954 ข้อเสนอในบริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์มีวัตถุประสงค์ดังนี้ (1) เพื่อเสริมสร้างบทบาทของสภาครองเกรสในการทำสนธิสัญญา (2) เพื่อจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีในการบรรลุข้อตกลงฝ่ายบริหาร และ (3) เพื่อสร้างหลักประกันว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญเหนือกว่าบทบัญญัติของสนธิสัญญาใด ๆ ข้อเสนอนี้มีอันตกไปเพราะขาดเสียงสนับสนุนไปเสียงหนึ่งทำให้มีคะแนนเสียงไม่ถึงสองในสามในวุฒิสภา

ความสำคัญ บริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์ คือ ฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ในอันที่จะควบคุมความสัมพันธ์ต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา พวกที่ให้การสนับสนุน บริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์ มีแรงกระตุ้นจากความกลัวว่าประธานาธิบดีจะทำสนธิสัญญาที่มีบทบัญญัติขัดกับรัฐธรรมนูญเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในกรณี มิสซูรีกับฮอลแลนด์ เมื่อ ค.ศ.1920 นอกจากนั้นแล้ว ข้อเสนอบริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์นี้ก็ยังสะท้อนให้เห็นความไม่พอใจในข้อตกฝ่ายบริหารในระหว่างสงครามที่กระทำกันที่ยัลตาและปอตสดัมเมื่อปี ค.ศ. 1945 กับสะท้อนให้เห็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของสหประชาชาติในการบังคับใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นต้น หากข้อเสนอบริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์กระทำได้สำเร็จก็หมายถึงการกลับแนวโน้มทางประวัติศาสตร์ไปจากเดิมที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้นำในกิจการต่างประเทศ รัฐบัญญัติ "เคสแอ็คท์" ปี ค.ศ. 1972 และรัฐบัญญัติ "วอร์พาวเวอร์สแอ็คท์" ปี ค.ศ. 1973 เป็นตัวอย่างของความพยายามของฝ่ายสภาครองเกรสที่จะปรับปรุงดุลอำนาจการตัดสินใจในกิจการระหว่างประเทศ โดยที่รัฐบัญญัติเคสแอ็คท์กำหนดให้ประธานาธิบดีจะต้องแจ้งข้อตกลงทางบริหารทุกอย่างที่ประธานาธิบดีกระทำให้สภาครองเกรสได้ทราบ ส่วนวอร์พาวเวอร์สแอ็คท์ก็เป็นความพยายามที่จะจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีในการใช้กำลังทางทหาร

Camp David Accords

ข้อตกลงแคมป์ เดวิด

กรอบของข้อตกลงเพื่อ "การฟื้นสัมพันธไมตรี " ระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1978 ประเทศเพื่อนบ้านในตะวันออกกลางสองชาตินี้อยู่ในภาวะสงครามระหว่างกัน มีการต่อสู้กันบ้างเป็นครั้งคราวนับแต่มีการตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1948 ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ มีความเห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะระงับข้อพิพาทระหว่างอาหรับกับอิสราเอลให้เกิดสันติภาพขึ้นมาได้ ประธานาธิบดีคาร์เตอร์เห็นสิ่งบอกเหตุนี้จากการที่ประธานาธิบดีอันวาร์ เอล-ซาดัตแห่งอียิปต์เดินทางไปเยือนกรุงเยรูซาเลมในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1977 จึงมีความคิดว่าน่าจะให้ประธานาธิบดีอัลวาร์ เอล-ซาดัตกับนายกรัฐมนตรีเมนาฮิม เบกิน แห่งอิสราเอลได้มาพบปะเจรจาแก้ปัญหาร่วมกันเสียเลย ประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ได้ใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศทั้งสองมีความเชื่อถือในสหรัฐอเมริกาทำหน้าที่เป็นคนกลางที่จะช่วยไกล่เกลี่ยและทำการกดดันอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะให้ทั้งสองฝ่ายทำความตกลงแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างกัน ข้อตกลงแคมป์ เดวิดนี้นำไปสู่สนธิสัญญาสันติภาพเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1979 ช่วยให้สงครามที่ทำกันมาถึง 30 ปียุติลงได้


ความสำคัญ ข้อตกลงแคมป์ เดวิดเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นบทบาทของหัวหน้าฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นหัวหน้านักการทูตและหัวหน้าผู้ดำเนินการนโยบายต่างประเทศ จากผลของข้อตกลงและสนธิสัญญาสันติภาพ อิสราเอลได้รับการรับรองเป็นทางการครั้งแรกจากรัฐอาหรับรัฐหนึ่ง พร้อมกับที่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ส่วนอียิปต์ก็ได้แหลมซีนายคืนและสามารถปลดเปลื้องตัวเองจากภาระเศรษฐกิจอันเกิดจากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อได้ ข้างฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอียิปต์และได้เข้าไปใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารของประเทศอียิปต์ ทำให้สหรัฐเข้าไปมีอิทธิพลทางทหารในตะวันออกกลางได้ สหรัฐอเมริกาได้ให้การสนับสนุนข้อตกลงแคมป์ เดวิดและสนธิสัญญาสันติภาพ ด้วยการให้เงินช่วยเหลือแต่ละฝ่ายเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลล่าร์ ส่วนสหภาพโซเวียตถูกกีดกันไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในข้อตกลงและไม่ให้ขัดขวางความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศอาหรับกับอิสราเอล อย่างไรก็ตามข้อตกลงแคมป์ เดวิคไม่สามารถขยายกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางออกไปได้ เนื่องจากไม่สามารถนำรัฐอาหรับอื่น ๆ มาสู่โต๊ะเจรจาได้

Caribbean Basin Initiative (CBI)

โครงการริเริ่มลุ่มทะเลคาริบเบียน(ซีบีไอ)

โครงการของสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนาคุณค่าประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่มีเสถียรภาพในแถบกลุ่มประเทศลุ่มทะเลคาริบเบียน ซึ่งประกาศเป็นโครงการโดยประธานาธิบดีไรนัลด์ เรแกนในที่ประชุมขององค์การรัฐในทวีปอเมริกา (โอเอเอส) เมื่อปี ค.ศ. 1982 สภาครองเกสของสหรัฐ ฯ ได้ตรากฎหมายว่าด้วยการปลอดภาษีและผลประโยชน์ด้านภาษีของซีบีไอนี้ไว้ใน "รัฐบัญญัติการฟื้นฟูเศรษฐกิจของลุ่มทะเลคาริบเบียน" ปี ค.ศ. 1983 โครงการซีบีไอมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 12 ปี โดยเริ่มตั้งปี ค.ศ. 1984 มีขอบข่ายโครงการครอบคลุม 22 ประเทศ ข้อกำหนดของโครงการที่ว่าด้วยการปลอดภาษีนั้น ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาโดยผ่านทางความหลากหลายของสินค้าขาออก ส่วนข้อกำหนดที่ว่าด้วยผลประโยชน์ทางด้านภาษีนั้นได้ให้การสนับสนุนให้มีการลงทุนต่างประเทศภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคดังกล่าว

ความสำคัญ โครงการซีบีไอเพื่อเสถียรภาพทางการเมืองและเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคกลุ่มทะเลคาริบเบียนนี้มีความสำคัญต่อประชาชนชาวอเมริกัน ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของการค้าของสหรัฐทั้งหมดรวมทั้งการนำเข้านำ้มันเกือบทั้งหมดจะต้องขนส่งผ่านเส้นทางการเดินเรือในแถบทะเลคาริบเบียนนี้ การสร้างงานให้แก่ประชาชนที่อยู่ในภูมิภาคดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์จะลดภาวะการว่างงานของคนภายในภูมิภาคนี้ ที่มีอยู่สูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นเหตุให้เป็นภูมิภาคที่มีคนหลบหนีเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาใหญ่อันเป็นอันดับสองของโลก นอกจากนี้แล้วภูมิภาคคาริบเบียนนี้ก็ยังเป็นตลาดสำหรับสินค้าออกที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐ ฯ คือ เป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับเจ็ดของโลกเลยทีเดียว สินค้าส่งออกของสหรัฐที่ส่งเข้าไปขายในภูมิภาคแห่งนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 6.3 พันล้านดอลล่าร์ คือ เป็นจำนวนที่มากกว่าสินค้าขาออกที่สหรัฐฯส่งไปขายในสหภาพโซเวียตและประเทศในยุโรปตะวันออกรวมกัน หรือมากกว่าสินค้าขาออกที่สหรัฐฯส่งไปขายทุกประเทศในทวีปอเมริกา หรือมากกว่าสินค้าออกที่สหรัฐ ฯ ส่งไปขายในฝรั่งเศส หรืออิตาลีเสียอีก การให้ความสนับสนุนด้านดุลการชำระเงิน การให้ความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนา และการให้ความช่วยเหลือทางด้านโภคภัณฑ์จากสหรัฐฯก็ดี การได้รับความช่วยเหลือทางด้านพลังงานราคาถูกจากเม็กซิโกและเวเนซุเอลากับจากโครงการตลาดเสรีของแคนนาดาต่อประเทศเครือไพบูลย์แห่งคาริบเบียนก็ดี ได้ช่วยให้ดินแดนแถบนี้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ แม้ว่าปัญหาการขาดดุลทางงบประมาณของสหรัฐ ฯ จะทำให้สหรัฐ ฯ ให้ความช่วยเหลือไม่ได้เต็มที่แต่ก็ได้ช่วยให้ดินแดนแถบนี้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยทั่วภูมิภาคถึง 2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประชากรทั่วทั้งภูมิภาคยังคงเติบโต 2.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีอยู่ต่อไป

Case Act of 1972

รัฐบัญญัติเคสแอ็คส์ ปี ค.ศ. 1972

รัฐบัญญัติที่เสนอโดยวุฒิสมาชิกคลิฟฟอร์ดเคส (จากรัฐนิวเจอร์ซี) ซึ่งมีข้อกำหนดให้ประธานาธิบดีต่อยื่นต้นฉบับของข้อตกลงฝ่ายบริหารทั้งปวงต่อสภาครองเกส หากประธานาธิบดีพิจารณาเห็นว่าการเปิดเผยบทบัญญัติในข้อตกลงฝ่ายบริหารดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติกฎหมายก็ได้ให้สิทธิแก่ประธานาธิบดีที่จะไม่เปิดเผยความลับนี้ได้ อย่างไรก็ตามต้นฉบับของข้อตกลงดังกล่าวจะต้องส่งมอบให้แก่คณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์วุฒิสภาและแก่คณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศสภาผู้แทนนี้เท่านั้น รัฐบัญญัติเคสแอ็คส์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันฝ่ายบริหารมิให้ปกปิดฝ่ายนิติบัญญัติในเรื่องข้อผูกพันต่างประเทศโดยใช้วิธีการทำข้อตกลงฝ่ายบริหารแทนที่จะใช้กระบวนการทางสนธิสัญญา

ความสำคัญ รัฐบัญญัติเคสแอ็คส์เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันชิงดีชิงเด่นระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติที่ถูกสร้างขึ้นมาในการบริหารบ้านเมืองโดยระบบแบ่งแยกอำนาจและหลักการคานและดุลอำนาจ เมื่อปี ค.ศ. 1954 ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ "บริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์" ที่ต้องการจำกัดอำนาจทำสนธิสัญญาของประธานาธิบดีมีอันตกไปเพราะขาดเสียงสนับสนุนหนึ่งเสียง ทำให้มีคะแนนเสียงไม่ถึงสองในสามของวุฒิสภาได้ อย่างไรก็ตามจากการที่ได้ประกาศยกเลิกมติอ่าวตังเกี๋ยในปี ค.ศ. 1970 ก็ดี จากการที่ได้ผ่านรัฐบัญญัติเคสแอ็คส์ปี ค.ศ. 1973 และรัฐบัญญัติวอร์พาวเวอร์แอ็คท์ ในปี ค.ศ. 1973 ก็ดี ล้วนแต่เป็นตัวอย่างของความพยายามของฝ่ายสภาครองเกรสที่จะยับยั้งการขยายอำนาจฝ่ายบริหารและเชิดชูบทบาทของสภาครองเกสในด้านนโยบายต่างประเทศ พลังของบทบาทนั้นยังจะต้องคอยทดสอบกันต่อไป ข้างฝ่ายศาลก็ไม่ต้องการจะยุ่งเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัตินี้ โดยมองว่าเป็นปัญหาทางการเมืองมิใช่ปัญหาการตัดสินข้อพิพาททางศาลแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันการควบคุมของประธานาธิบดีในกิจการต่างประเทศอย่างสำคัญก็ยังคงมีต่อไปไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

Google