Keurig K-Mini Single Serve K-Cup Pod Coffee Maker, Poppy Red

Google

Wednesday, October 21, 2009

Containment

การจำกัดการขยายตัวของลัทธิไม่พึงปรารถนา

นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในสงครามเย็น และข้อสมมติฐานทางทฤษฎีของนโยบายนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะยุติการขยายตัวของสหภาพโซเวียต ทฤษฎีการจำกัดการขยายตัวของลัทธิที่ไม่พึงปรารถนานี้ เริ่มต้นด้วยข้อสมมติฐานว่า นโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียต ส่วนใหญ่แล้วได้รับแรงกระตุ้นจากความจำเป็นทางด้านเผด็จการที่ได้รับการปรุงแต่งโดยลัทธิคอมมิวนิสต์และประวัติศาสตร์ของรัสเซีย ผู้ที่ตั้งสมมติฐานนี้ขึ้นมาก็คือ นายจอร์จ เอฟ.เคนนัน หัวหน้าคณะผู้วางแผนนโยบายของกระทรวงต่างประเทศเมื่อปี ค.ศ. 1947 ทฤษฎีการจำกัดการขยายตัวของลัทธิที่ไม่พึงปรารถนานี้ได้รับการปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นมาโดยใช้นโยบาย 2 ขั้นตอน ซึ่งได้เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อมีโครงการให้ความช่วยเหลือแก่กรีกและตุรกีในปี ค.ศ. 1947 ขั้นตอนที่ 1 ของนโยบายนี้มีปรากฎอยู่ใน "ลัทธิทรูแมน" ซึ่งได้เรียกร้องให้มีการหยุดยั้งการรุกคืบหน้าในทางภูมิศาสตร์ของสหภาพโซเวียต ในระยะที่ 1 นี้ ได้มีการขีดเส้น "แซตเตอร์ โซน" จากนอร์เวย์ผ่านไปทางยุโรปตอนกลางและยุโรปตอนตะวันออกเฉียงใต้ และจากตะวันออกกลางไปทางเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก เมื่อได้ทำการขีดเส้นจำกัดการขยายตัวของสหภาพโซเวียตนี้แล้ว ในระยะที่ 2 ของนโยบาย ได้กำหนดให้มีการสร้าง "สถานการณ์แห่งพลัง" ขึ้นมาโดยให้สหรัฐอเมริกาทำหน้าที่เป็นพลังต้านทานอำนาจของสหภาพโซเวียตตามเส้นรอบวงหรือตามปริมณฑลที่ได้ลากเส้นไว้แล้วนั้น นอกจากนี้แล้วก็ยังได้กำหนดให้สหรัฐอเมริกาโต้ตอบตามกาละและเทศะ และวิธีการตามแต่จะเห็นสมควร เพื่อสกัดกั้นการแหกวงล้อมออกมาของสหภาพโซเวียต นโยบายการปิดล้อมสหภาพโซเวียตนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายจุดประสงค์ของนโยบายต่างประเทศและนโยบายภายในของสหภาพโซเวียตและเพื่อไปกระตุ้นให้เกิดแรงกดดันภายในและความไม่พึงพอใจของประชาชนชาวโซเวียตที่ซ่อนเร้นอยู่ในระบบเผด็จการของสหภาพโซเวียตบรรดาผู้นำของสหภาพโซเวียตได้รับการเตือนให้เกิดความตระหนักว่า ในขณะที่ผลประโยชน์ทั้งหลายของสหภาพโซเวียตไม่อาจบรรลุถึงได้ด้วยการใช้ความรุนแรง การก่อความไม่สงบ และการบ่อนทำลาย แต่ผลประโยชน์บางอย่างอาจจะสำเร็จโดยวิธีการประนีประนอมผ่านทางการทูตแบบสันติได้

ความสำคัญ นโยบายการปิดล้อมนี้เป็นปฏิบัติการที่อิงนโยบายต่างประเทศแบบสัจนิยมในระยะยาวที่ผ่านการพัฒนามาเป็นอย่างดี มิได้อิงหลักการแบบอุดมคตินิยมที่เป็นนามธรรมซึ่งในประวัติศาสตร์เคยพัฒนามาเป็นแนวชี้นำนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกามาก่อน การปิดล้อมดังที่เคนนันได้ตั้งไว้เป็นข้อสมมติฐานนั้น ได้กำหนดให้ผู้ดำเนินนโยบายมีอารมณ์เยือกเย็น ปฏิบัติการให้ทันเวลาและมีความสุขุมรอบคอบ จะต้องไม่กดดันให้ชาวโซเวียตจนมุมจนถึงกับหันกลับมาต่อสู้ดุจสุนัขจนตรอก และจะต้องยอมให้มีที่หนีและสามารถรักษาหน้าของตัวเองได้ วัตถุประสงค์ขั้นสุดท้ายของการปิดล้อมนี้มิใช่เพื่อให้เกิดสงคราม แต่เพื่อให้เกิดการผ่อนปรน การปิดล้อมนี้ได้ก่อให้เกิดการ "ยันกัน" ทางทหารที่ตามด้วยการผ่อนคลายความตึงเครียดและการหามาตรการการผ่อนปรน หลักการปิดล้อมก็ยังได้ขยายไปถึงการสกัดกั้นการขยายตัวของจีนในเอเชียด้วย ผู้เขียนนโยบายการปิดล้อม คือ จอร์จ เอฟ. เคนนัน ได้วิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาขั้นพื้นฐานและข้อพิจารณาทางยุทธศาสตร์ที่มีอยู่ในนโยบายนี้

No comments:

Post a Comment

Google