Keurig K-Mini Single Serve K-Cup Pod Coffee Maker, Poppy Red

Google

Wednesday, October 21, 2009

Nicaragua V. The United States

คดีระหว่างนิการากัว กับสหรัฐอเมริกา

คดีที่รัฐบาลซานดานิสตาของประเทศนิการากัว ยื่นข้อเสนอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) เมื่อปี ค.ศ. 1984 โดยที่นิการากัวอ้างว่า การที่สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือในการวางทุ่นระเบิดตามท่าเรือต่าง ๆ ของนิการากัวและในการให้การสนับสนุนฝ่ายกบฎคอนทราทำการโจมตีทางทหารต่อรัฐบาลนิการากัวที่ถูกต้องตามกฎหมายและที่สหรัฐ ฯ ก็ให้การรับรองนั้น เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นรัฐบาลนิการากัวจึงได้เรียกร้องค่าเสียหายจากสหรัฐ ฯ ข้างฝ่ายสหรัฐ ฯ ซึ่งคาดหมายไว้แต่แรกว่านิการากัวจะใช้วิธีนี้ จึงได้ปฏิเสธอำนาจศาลของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่จะมาพิจารณาคดีนี้ ต่อแต่นั้นนิการากัวได้ยื่นข้อเสนอใหม่ให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกคำสั่งห้ามสหรัฐ ฯ ให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายกบฎคอนทราจนกว่าศาลจะนั่งพิจารณาคดี ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 12 - 20 กันยายน ค.ศ.1985 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยอมรับข้อเสนอของฝ่ายนิการากัวแต่สหรัฐ ฯ ได้ทำการคัดค้าน ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินให้สหรัฐ ฯ ยุติให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายกบฎคอนทรานั้นเสีย แต่สหรัฐ ฯ นิ่งเฉยไม่ยอมปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลฯ

ความสำคัญ ความสามารถของสหรัฐ ฯ ที่จะมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ของโลกได้ลดน้อยถอยลงไปมากในช่วง 25 ปีสุดท้ายก่อนที่สิ้นคริสตศตวรรษที่ 20 การเปลี่ยนแปลงในสถานภาพของสหรัฐ ฯ ได้แสดงออกมาให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการบริหารงานของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรเกน โดยเป็นนโยบายที่เคลื่อนจากฐานเดิม คือ นโยบายอิงลัทธิพหุภาคีนิยมในสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ตนเองได้ช่วยจัดตั้งขึ้นมา การเคลื่อนออกจากฐานนโยบายเดิมนี้บ่งบอกว่าเป็นการกลับคืนสู่นโยบายที่อิงอาศัยลัทธิเอกภาคีนิยมในยุคที่โลกต้องมีการพึ่งพาอาศัยกันในระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นนี้ หลักฐานที่บ่งบอกว่าเป็นเช่นนี้ ได้แก่ (1) สหรัฐ ฯ ได้ถอนตัวออกจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) (2) ได้โจมตีบทบาทปัจจุบันของสมัชชาใหญ่และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ (3) ได้ปฏิเสธอำนาจศาลของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในนิการากัว ในฐานะที่เป็นรัฐมีอำนาจอธิปไตยสหรัฐอเมริกามีสิทธิตามกฎหมายที่จะตกลงใจเช่นนี้ได้ แต่ก็ทำให้เกิดผลเสียทางการเมืองตามมา การที่สหรัฐ ฯ ปฏิเสธอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนี้ถือว่าเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอย่างสุด ๆ ทั้งนี้เพราะสหรัฐ ฯ มีธรรมเนียมปฏิบัติในการยืนหยัดที่จะพัฒนาและใช้หลักนิติธรรมในการดำเนินกิจการระหว่างประเทศมาตลอด ความจริงแล้วสหรัฐอเมริกาเคยใช้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนี้เมื่อปี ค.ศ. 1980 ซึ่งตอนนั้นสหรัฐ ฯ ได้นำคดีวิกฤติที่อิหร่านยึดนักการทูตอเมริกันเป็นตัวประกันให้ศาลพิจารณา และได้ประณามอิหร่านที่ปฏิเสธอำนาจของศาล ฯ ในทำนองเดียวกันนี้

No comments:

Post a Comment

Google