ภาวะปรองดองระหว่างสองพรรค
ความมีเอกภาพระหว่างพรรคการเมืองในการแก้ปัญหาสำคัญของนโยบายต่างประเทศสหรัฐ ฯ ภาวะปรองดองระหว่างสองพรรคตั้งอยู่บนรากฐานของแนวความคิดของความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค (กล่าวคือ พรรคดีโมแครตและพรรครีพับลิกัน) ในสภาคองเกรส และระหว่างประธานาธิบดีกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน สมมติฐานของภาวะการปรองดองระหว่างสองพรรค ก็คือ เมื่อยามที่เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชาติ การเมืองในแบบพรรคใครพรรคมันก็จะต้องยุติลงในทันที เพื่อแสดงให้โลกภายนอกได้เห็นว่ามีความปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ความสำคัญ ภาวะปรองดองระหว่างสองพรรคประสบความสำเร็จในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและในช่วงที่เกิดการแข่งขันกันในสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงใหม่ ๆ ระบบรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ฯ ที่เป็นแบบแบ่งแยกอำนาจและมีการคานดุลระหว่างกันนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติได้ ซึ่งหากว่าไม่มีภาวะปรองดองระหว่างสองพรรคนี้เสียแล้ว ก็จะทำให้นโยบายต่างประเทศเป็นอัมพาตไปได้ ในที่สุดระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็จะมีการเลือกระหว่างทางสองแพ่ง คือ หนทางหนึ่งเป็นการยึดหลักการเมืองแบบพรรคใครพรรคมัน กล่าวคือ พรรคใดเป็นฝ่ายค้านพรรคนั้นก็จะทำหน้าที่ค้านอย่างเต็มที่ กับอีกหนทางหนึ่ง คือ ยึดความสามัคคีปรองดองภายในชาติ ที่เป็นประชาธิปไตยน้อยแต่ทว่ามีสมานฉันท์ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหานโยบายต่างประเทศ การที่ภาวะปรองดองระหว่างสองพรรคสำเร็จได้นั้น พรรคเสียงข้างน้อยจะต้องเกิดความรู้สึกว่าฝ่ายตนได้รับ "การปรึกษาหารือ" มิใช่เพียง "ได้รับการแจ้งให้ทราบ" เกี่ยวกับการตัดสินใจในนโยบาย
No comments:
Post a Comment