ลัทธิมอนโร
หลักการขั้นพื้นฐานของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่คัดค้านต่างชาติเข้าแทรกแซงในซีกโลกตะวันตก ลัทธิมอนโรซึ่งเริ่มต้นจากคำแถลงนโยบายฝ่ายเดียวของประธานาธิบดี เจมส์ มอนโร ที่ปรากฎอยู่ในสาร "สเต็ต ออฟ ยูเนียน" ที่ส่งไปถึงสภาคองเกรสเมื่อปี ค.ศ. 1823 ได้กล่าวถึง เจตจำนงของสหรัฐอเมริกาด้วยว่า หากต่างประเทศไม่แทรกแซงในซีกโลกตะวันตก สหรัฐ ฯ ก็จะไม่เข้าแทรกแซงในกิจการภายในของยุโรปเป็นการตอบแทนเช่นเดียวกัน ที่สหรัฐอเมริกามีแถลงการณ์นี้ออกมาก็เพราะมีความวิตกกังวลว่า เมื่อสงครามนโปเลียนยุติลงแล้ว พันธมิตรศักดิ์สิทธิ์หรือโฮลีแอลไลแอนซ์ (ความตกลงระหว่างกษัตริย์ของรัสเซีย ปรัสเซีย และออสเตรีย เมื่อปี ค.ศ.1815) อาจจะเข้ามาช่วยเหลือในการสถาปนาจักรวรรดิอาณานิคมของสเปนขึ้นมาใหม่ โดยวิธียึดครองสาธารณรัฐต่างๆในละตินอเมริกาที่ได้เอกราชใหม่
ความสำคัญ ลัทธิมอนโรได้ถูกใช้เป็นเครื่องชี้แนวทางนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาใน "ซีกโลกตะวันตก" มากว่าหนึ่งร้อยห้าสิบปี หลังการประชุม "คองเกรส ออฟ เวียนนา ปี ค.ศ.1815" อังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลในขณะนั้น ได้สถาปนา "แพกซ์ บริแทนนิกา" ขึ้นมาในละตินอเมริกา เป็นการให้การสนับสนุนลัทธิมอนโรนี้โดยอ้อมเพราะเป็นการแสดงว่าอังกฤษให้ความสนใจใน "ซีกโลกตะวันตก" นี้เหมือนกับสหรัฐอเมริกา พอถึงปลายคริสตศตวรรษที่ 18 สหรัฐอเมริกามีอานุภาพทางทหารเพียงพอที่จะนำมาใช้สนับสนุนลัทธิมอนโรนี้ โดยได้ใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงบ้าง มีการปฏิบัติการฝ่ายเดียวบ้าง มีการออกแถลงการณ์ย้ำถึงลัทธิมอนโรนี้บ้าง ก็จึงทำให้เป็นที่ขัดเคืองใจของประเทศต่าง ๆ ในละตินอเมริกา แต่เมื่อได้มีการประกาศใช้นโยบายเพื่อนบ้านที่ดีเมื่อปี ค.ศ.1903 แล้ว หลักการของลัทธิมอนโรนี้ก็ได้ดำเนินผ่านทางกระบวนการในรูปแบบพหุภาคี กล่าวคือ ในการสร้างเอกภาพทางด้านการเมืองนั้น ก็ได้ดำเนินการผ่านทางองค์การนานารัฐในทวีปอเมริกา (โอเอเอส) ส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงเพื่อต่อต้านการแทรกแซงจากต่างประเทศนั้น ก็ออกมาในรูปของสนธิสัญญาริโอ กระนั้นก็ดีก็ยังไม่มีฉันทามติเกี่ยวกับปัญหาที่ว่าเป็นการสมควรหรือไม่หรือควรทำอย่างไร ถึงจะนำลัทธิมอนโรนี้มาประยุกต์ใช้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา อาทิ (1) การจัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในคิวบา (2) กิจกรรมการบ่อนทำลายตามที่ต่าง ๆ ในละตินอเมริกา และ (3) สหรัฐ ฯเข้าแทรกแซงในปฏิวัติภายใน เช่น ที่กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และนิการากัว เป็นต้น
No comments:
Post a Comment