สภาคองเกรส : การประกาศสงคราม
มติร่วมที่ยอมรับโดยสภาคองเกรสและได้รับการลงนามโดยประธานาธิบดีแล้ว แจ้งให้ประชาคมระหว่างประเทศทราบว่าชาติมีความประสงค์จะดำเนินหรือปกป้องผลประโยชน์ของตนโดยวิธีปฏิบัติการทางทหาร ในทางเทคนิคนั้น สภาคองเกรสสามารถผ่านมติการประกาศสงครามนี้โดยฝืนความรู้สึกของประธานาธิบดีได้ แต่กรณีดังกล่าวประธานาธิบดีก็มีทางเลือก คือ ใช้สิทธิยับยั้งการประกาศสงครามได้ การประกาศสงครามของสหรัฐอเมริกาทุกครั้ง เว้นสงครามเมื่อปี ค.ศ. 1812 กระทำตามคำสั่งของประธานาธิบดีทั้งนั้น การยุติสถานะสงครามก็เช่นเดียวกันสามารถกระทำได้โดยมติร่วมหรือโดยสนธิสัญญา สภาคองเกรสประกาศสงครามเพียง 5 ครั้งเท่านั้น แต่ประธานาธิบดีทำการส่งทหารไปปฏิบัติการตามที่ต่าง ๆ มากกว่า 150 ครั้ง โดยมิได้มีการประกาศสงคราม ทั้งนี้รวมทั้งการปฏิบัติการในเกาหลีและเวียตนามด้วย
ความสำคัญ การประกาศสงครามซึ่งตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐกำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของสภาคองเกรสโดยเฉพาะนั้น อาจจะมีความสำคัญในทางปฏิบัติน้อย เนื่องจากสงครามอาจถูกบีบบังคับให้ต้องทำจากพฤติกรรมการรุกรานของรัฐอื่นได้ ยิ่งไปกว่านั้นประธานาธิบดีในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการด้านกิจการระหว่างประเทศอาจจะแจ้งให้สภาคองเกรสได้ทราบถึงสถานการณ์ว่ามีความเลวร้ายมากจนไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นนอกจากจะต้องทำสงครามนี้ และภายในข้อจำกัดของรัฐบัญญัติวอร์พาวเวอร์แอ็คท์ปี ค.ศ. 1973 นั้นประธานาธิบดีในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดสามารถออกคำสั่งให้กองทัพเข้าสู่สถานการณ์รบได้โดยที่ไม่ต้องมีการประกาศสงคราม ยกตัวอย่างเช่นกรณีสงครามเกาหลีและสงครามเวียตนาม อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง แสดงให้เห็นว่า การประกาศสงครามมีความสำคัญในแง่อื่น กล่าวคือ เมื่อประเทศอยู่ในสถานะสงครามอย่างเป็นทางการแล้ว สภาคองเกรสจะยินยอมจัดสรรงบประมาณให้ และก็จะไม่สอบถามถึงความถูกต้องในการที่มีการมอบอำนาจกึ่งนิติบัญญัติอย่างล้นเหลือให้แก่ประธานาธิบดีในยามสงครามข้อนี้หมายถึงว่า สงครามสมัยนี้เป็นสงครามสมัยใหม่ ดังนั้นก็จะต้องให้ประธานาธิบดีได้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตทุกอย่างของคนทั้งชาติ เพื่อให้สามารถทำสงครามได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยทั้งนี้ก็จะต้องไม่มีการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยเปิดเผยและโดยจงใจ นอกจากนี้แล้วการประกาศสงครามก็ยังจะมีผลทางกฎหมายทั้งในระดับภายในชาติและในระดับนานาชาติ กล่าวคือ การประกาศสงครามจะเป็นการกำหนดวันที่สิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับสถานะสงครามมีผลบังคับใช้ แต่อย่างไรก็ตามยุคนี้เป็นยุคก้าวหน้างทางเทคโนโลยี ที่มหาอำนาจสามารถยิงอาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้างซึ่งกันและกัน (เอ็มเอดี) ได้อย่างฉับพลัน จึงไม่จำเป็นต้องมีการประกาศสงครามกันก็ได้
No comments:
Post a Comment