สภาคองเกรส : อำนาจการควบคุมการเงิน
อำนาจของสภาคองเกรสในการควบคุมการเงินของรัฐบาลทั้งทางด้านรายรับและรายจ่าย อำนาจการควบคุมการเงินของสภาคองเกรสนี้รวมไปถึง "อำนาจที่จะกำหนดและเก็บภาษี อากร ภาษีศุลกากร และอากรสรรพสามิต อำนาจในการชำระหนี้และจัดหาเงินเพื่อป้องกันร่วมกันและเพื่อสวัสดิการทั่วไปของสหรัฐอเมริกา..." (มาตรา 1 อนุมาตรา 8) และข้อจำกัดที่ว่า "จะเบิกจ่ายเงินจากระทรวงการคลังได้ ก็แต่กรณีที่เป็นผลจากการจัดสรรโดยกฎหมายเท่านั้น ..." (มาตรา 1 อนุมาตรา 9) ก่อนที่โครงการอย่างใดอย่างหนึ่งจะดำเนินการได้นั้น ก็จะต้องผ่านการพิจารณาของสองสภาของสภาคองเกรสสองครั้ง คือ ครั้งแรกเป็นขั้นตอนกำหนดนโยบายให้อำนาจจัดโครงการนั้นได้ และครั้งที่สองเป็นขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณที่จะนำไปใช้ในโครงการนั้น ภายใต้ขั้นตอนในครั้งแรกนั้น ร่างรัฐบัญญัติจะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมธิการกิจการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์วุฒิสภา ส่วนในครั้งที่สองนั้นจะเป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณของทั้งสองสภา เมื่อได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณไปให้แล้ว การใช้จ่ายเงินของโครงการโดยฝ่ายบริหารจะถูกตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน (จีเอโอ) ซึ่งสภาคองเกรสจัดตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวให้อยู่ในขอบเขตวงเงินจัดสรรของสภาคองเกรส
ความสำคัญ อำนาจการควบคุมการเงิน คือ เครื่องมือสำคัญที่สภาคองเกรสนำมาใช้ควบคุมกระบวนการนโยบายต่างประเทศ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับประธานาธิบดีที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยไม่มีงบประมาณมาสนับสนุน การที่สภาคองเกรสจะใช้อำนาจการควบคุมการเงินนี้เพื่อสร้างอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศได้มากน้อยเพียงใดนั้น จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างบุคคลที่อยู่ในทำเนียบขาวกับผู้นำในสภาคองเกรส (แคปิตอลฮิลล์) แต่เมื่อประธานาธิบดีได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว อำนาจของสภาคองเกรสที่จะไม่จัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนจะลดน้อยลง ทั้งนี้เพราะเกรงไปว่าผลประโยชน์ของชาติจะเสียหายได้
No comments:
Post a Comment