สภาคองเกรส : อำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจในการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในมาตรา 1 อนุมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ฯ บัญญัติไว้ว่า "อำนาจนิติบัญญัติทั้งปวงเท่าที่กำหนดให้ต่อไปนี้ ให้อยู่ที่รัฐสภาคองเกรสของสหรัฐ ฯ ซึ่งประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร" และอำนาจเหล่านี้ได้มีการแจกแจงไว้ในมาตรา 1 อนุมาตรา 8 โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัตินี้ รัฐสภาคองเกรสก็จะเป็นฝ่ายที่กำหนดถึงความจำเป็น ที่จะสร้าง ที่จะให้อำนาจ ที่จะลดและที่จะยุบเลิกหน่วยงานต่าง ๆ ของฝ่ายบริหาร ซึ่งประธานาธิบดีจะอาศัยใช้ดำเนินนโยบายต่างประเทศ ประธานาธิบดีมีอำนาจไม่มากในการดำเนินนโยบายต่างประเทศตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จนกว่ารัฐสภาคองเกรสจะดำเนินการจัดหากลไกทางการปกครองและจัดสรรงบประมาณมาให้
ความสำคัญ ความสำคัญของอำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภาคองเกรสในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐนี้ ได้มาจากระบบการแบ่งแยกอำนาจการปกครองที่กำหนดให้ต้องมีการร่วมมือกันของสองฝ่ายเป็นอย่างน้อย จึงจะทำให้รัฐบาลแห่งชาติสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิผลได้ เพราะฉะนั้นก็จึงให้เรื่องของกิจการระหว่างประเทศนี้อยู่ในความรับผิดของของรัฐสภาคองเกรส เนื่องจากว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ฯ ต้องอิงอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายช่วยสนับสนุนจึงจะดำเนินไปได้
No comments:
Post a Comment