มติอ่าวตังเกี๋ย
มติร่วมปี ค.ศ. 1964 ที่ส่งผลให้สภาคองเกรสให้ความเห็นชอบในเบื้องต้นให้ประธานาธิบดีสามารถดำเนินการใช้ "มาตรการที่จำเป็นทั้งปวงในอันที่จะขับไล่กองกำลังทหารใด ๆ ที่เข้าโจมตีกองกำลังทหารของสหรัฐ ฯ และป้องกันการรุกรานมากยิ่งขึ้น" ได้มีการผ่านมติร่วมอ่าวตังเกี๋ยนี้ภายหลังจากที่กองกำลังทางเรือของเวียดนามเหนือได้ระดมยิงเรือพิฆาต 2 ลำของสหรัฐ ฯ อยู่ก่อนหน้านี้หลายวัน ที่อ่าวตังเกี๋ยซึ่งตั้งอยู่ระหว่างผืนแผ่นดินใหญ่เวียดนามเหนือกับเกาะไฮนันของจีน ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน เห็นว่ามติร่วมอ่าวตังเกี๋ยนี้มีความสำคัญมาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว เขาต้องการใช้มติร่วมนี้เพื่อขีดวงจำกัดสงครามไว้ที่เวียดนามใต้และจะทำการตอบโต้หากฝ่ายเวียดนามเหนือทำการโจมตีต่อกองกำลังของสหรัฐ ฯ หลังการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1964 และนโยบายนี้ประสบความล้มเหลว ประธานาธิบดีจอห์นสันต้องการจะสยบเสียงของผู้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้ของเขา แต่เขาก็ไม่ได้เลือกใช้นโยบายเพิ่มภาษีหรือประกาศสงคราม มติร่วมอ่าวตังเกี๋ยนี้จึงได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของเขาเพื่อสนับสนุนความพยายามทางทหารของสหรัฐ ฯ ในเวียดนาม แต่ภายในประเทศสหรัฐฯได้เกิดการจลาจลและการคัดค้านสงครามเวียดนามมากจนประธานาธิบดีจอนห์สันต้องถอนตัวออกจากการลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ. 1968
ความสำคัญ การลุกลามของสงครามเวียดนามในท่ามกลางกระแสซึ่งมีทั้งผู้ที่สนับสนุนและผู้คัดค้านนี้ ได้ส่งผลให้มีการเรียกร้องให้สหรัฐ ฯ รีบเผด็จศึกในเวียดนามและรีบถอนตัวออกมาเสีย ความขัดแย้งภายในเกี่ยวกับการตีความผลประโยชน์แห่งชาตินี้ ได้ส่งผลให้มีการนัดหยุดงาน การประท้วง การเดินขบวน การชุมนุม การก่อม็อบ การใช้ความรุนแรงของตำรวจเข้าปราบปราม ตลอดจนถึงการใช้หน่วยพิทักษ์ชาติระดมยิงนักศึกษาในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จากการที่มีกระแสต่อต้าน "ประธานาธิบดีจักรวรรดินิยม" นี่เอง จึงได้มีการยกเลิกมติร่วมอ่าวตังเกี๋ยเมื่อปี ค.ศ. 1970 และจากประวัติศาสตร์ของมติร่วมอ่าวตังเกี๋ยนี้อีกเหมือนกัน ที่ทำให้สภาคองเกรสเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อบทบาทของตนในด้านนโยบายต่างประเทศ เพราะสภาคองเกรสจะทำหน้าที่ทั้งให้การสนับสนุนและใช้ความพยายามขัดขวางการขยายอำนาจของประธานาธิบดีในการควบคุมกิจการต่างประเทศ
No comments:
Post a Comment