กระทรวงกลาโหม
กระทรวงของฝ่ายบริหารที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงทางการทหารของสหรัฐอเมริกา กระทรวงกลาโหมซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1947 ทำหน้าที่อำนวยการควบคุมและประสานความร่วมมือระหว่างทบวงกองทัพบก ทบวงกองทัพเรือ และทบวงกองทัพอากาศ ทบวงทางการทหารทั้ง 3 เหล่านี้ ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีทบวงที่เป็นพลเรือน จะขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพียงผู้เดียวเท่านั้น ซึ่งรัฐมนตรีผู้นี้เป็นสมาชิกในคณะรัฐบาลของประธานาธิบดี เสนาธิการทหารของแต่ละเหล่าทัพจะให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีทบวงของตนและเสนาธิการของแต่ละเหล่าทัพพร้อมกับเสนาธิการทหารที่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะรวมกันเป็นคณะเสนาธิการร่วม ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาทางทหารสูงสุดในชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังได้รับคำแนะนำจากสภานโยบายกองทัพซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีของแต่ละทบวง เสนาธิการร่วม และผู้อำนวยการวิจัยและวิศวกรรมกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและประธานเสนาธิการร่วม จะทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาระดับสูงสุดของประธานาธิบดี ทางด้านนโยบายทางการทหารและการกลาโหม และเป็นสมาชิกของสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกด้วย
ความสำคัญ กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบทางด้าน (1) นโยบายทางการทหารแห่งชาติ(2) การป้องกันพลเรือน (3) การทำนุบำรุงและการปฏิบัติการของกองทัพ (4) การประสานความร่วมมือในโครงการทางทหารกับประเทศต่าง ๆ กว่า 40 ประเทศ (5) การธำรงฐานทัพภาคโพ้นทะเล (6) การวิจัย และ (7) การพัฒนา กระทรวงกลาโหมมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่กว่าหนึ่งล้านคน เป็นกระทรวงที่มีบุคลากรฝ่ายพลเรือนเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของเจ้าหน้าที่พลเรือนของรัฐบาลกลาง และเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณแผ่นดินกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดินทั้งประเทศ ด้วยเหตุที่ความมั่นคงแห่งชาติเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายต่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะบอกถึงข้อแตกต่างระหว่างนโยบายต่างประเทศกับนโยบายทางทหารได้ ถึงแม้ว่าการสร้างเอกภาพทางการป้องกันประเทศจะเป็นวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งกระทรวงกลาโหม แต่การแข่งขันระหว่างเหล่าทัพก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งมักจะเป็นการแข่งขันที่ได้รับการสนับสนุนจากสภาคองเกรสเสียด้วยซ้ำไป ยกตัวอย่างเช่น รัฐบัญญัติการปรับปรุงด้านกลาโหมปี ค.ศ. 1958 อำนวยให้ (1) แต่ละเหล่าทัพสามารถติดต่อกับสภาคองเกรสได้ (2) ไม่ให้ทำการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เกี่ยวกับกองกำลังหน่วยนาวิกโยธินหรือหน่วยป้องกันแห่งชาติเว้นเสียแต่จะได้รับความยินยอมจากสภาคองเกรส และ(3) ไม่ยอมให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการรวมกำลัง 3 เหล่าทัพหรือจัดตั้งระบบเสนาธิการทหารทั่วไป แต่ละเหล่าทัพ (1) ยังคงมีอิสระ (2) สามารถรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตน (3) สามารถแข่งขันเพื่อได้รับส่วนแบ่งในงบประมาณแผ่นดินทางด้านการทหาร และ (4) สามารถหาช่องทางควบคุมระบบอาวุธชนิดใหม่
Good jod
ReplyDelete