ประธานาธิบดี : การรับรอง
การบ่งบอกถึงเจตนารมณ์ที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับปกติกับรัฐหรือรัฐบาลอื่น ๆ อำนาจของประธานาธิบดีว่าด้วยเรื่องการรับรองนี้ ได้จากการตีความอำนาจในการส่งและรับเอกอัครราชทูต (มาตรา 2 อนุมาตรา 2) และอำนาจนี้จะถูกใช้โดยดุลยพินิจของประธานาธิบดี
ความสำคัญ การรับรองเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางทหารอย่างสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะการรับรองจะเอื้ออำนวยหรือขัดขวางความสำเร็จของรัฐหรือรัฐบาลใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐหรือรัฐบาลนั้นได้ นอกจากนั้นแล้วการรับรองยังอาจช่วยส่งเสริมหรือขัดขวางความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐ ฯ กับภาคีที่เกี่ยวข้องนั้นได้ด้วย ประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ จะมีการดำเนินนโยบายการรับรองในรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งบางคราวก็อาจยึดหลักทางกฎหมาย แต่บางคราวก็อาจยึดหลักทางการเมือง ในปี ค.ศ.1914 ในระหว่างเกิดปฏิวัติที่เม็กซิโก ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันปฏิเสธการรับรองระบอบการปกครองของฮูเออตา เพราะเห็นว่าเป็นระบอบการปกครองที่ขัดต่อกฎหมาย ทำให้รัฐบาลของฮูเออตาล้มในเวลาต่อมา ในปี ค.ศ.1933 ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ รับรองรัฐบาลของสหภาพโซเวียตหลังจากที่ได้อำนาจรัฐมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1917 ประธานาธิบดี แฮร์รี่ ทรูแมน รับรองรัฐอิสราเอลภายในไม่กี่ชั่วโมงที่รัฐนี้ก่อตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ.1948 ไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ คนใดต้องการรับรองรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างปี ค.ศ. 1949 - 1979 ในขณะที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของรัฐต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกสหรัฐฯกลับให้การรับรอง ประธานาธิบดีเท่านั้นมีอำนาจทางกฎหมายที่จะให้การรับรองและถอนการรับรอง แต่ผลของการตัดสินใจมีความสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่งยวดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประธานาธิบดีได้รับคาดหวังว่าจะต้องฟังเสียงของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายมติมหาชนก่อนว่าจะคัดค้านแนวการตัดสินใจรักษาผลประโยชน์แห่งชาติในเรื่องนี้หรือไม่ ก่อนที่จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนี้ของตนออกไป
No comments:
Post a Comment