การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของสหรัฐอเมริกากับประชาชนของประเทศอื่น ๆ ถึงแม้ว่าจะมีการจัดตั้งฝ่ายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในกระทรวงการต่างประเทศในปี ค.ศ. 1938 แล้ว แต่การมีรัฐบัญญัติฟูลไบรท์ปี ค.ศ. 1946 ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของโครงการสัมพันธ์อย่างจริงจัง ซึ่งโครงการเหล่านี้ปัจจุบันบริหารโดยสำนักกิจการการศึกษาและวัฒนธรรม รัฐบัญญัติฟูลไบรท์อนุญาตให้ใช้เงินตราต่างประเทศและสินเชื่อ (ที่ได้มาจากการขายทรัพย์สินของสหรัฐ ฯ ในต่างประเทศ) เพื่อให้เป็นทุนการศึกษาแก่คนอเมริกันศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาต่างประเทศเข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา นอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและแลกเปลี่ยนบุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ ภายใต้โครงการฟูลไบรท์นี้แล้ว รัฐบัญญัติสมิธ - มุนดท์แอ็คท์ปี ค.ศ. 1948 และโครงการต่าง ๆ ในระยะต่อมาก็ได้อำนวยให้มีการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ ผู้นำภาครัฐบาลและผู้นำอาชีพต่าง ๆ
ความสำคัญ โครงการฟูลไบรท์และโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมได้รับความนิยมทั้งจากผู้นำของฝ่ายบริหารและจากฝ่ายของสภาคองเกรส ยิ่งกว่าโครงการอื่นใดในการนำมาใช้เพื่อสร้างอิทธิพลต่อท่าทีของชาวต่างประเทศที่มีต่อสหรัฐอเมริกา ผู้ให้การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเห็นว่านักศึกษาและครูอาจารย์เป็นบุคลากรชั้นยอดทางการเมืองที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา พวกเขามีความเชื่อว่าเมื่อนักศึกษาและครูอาจารย์เหล่านี้มีพื้นฐานทางด้านการศึกษาแบบเดียวกันแล้ว ก็จะอำนวยประโยชน์ให้มีความสัมพันธ์อันดีในอนาคตกับสหรัฐอเมริกาได้ โดยอาศัยเส้นทางการสื่อสารที่กว้างไกลพ้นเส้นพรมแดนทางวัฒนธรรมของแต่ละชาติที่จัดตั้งขึ้นมา นอกจากนั้นแล้วโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมนี้ก็ยังช่วยสะท้อนให้เห็นความเชื่อของคนอเมริกาที่เห็นว่าการติดต่อระหว่างบุคคลจะช่วยส่งเสริมให้ชาวต่างประเทศรับแนวความคิดของคนอเมริกันเกี่ยวกับธรรมชาติของประชาคมระหว่างประเทศในระยะยาวได้ด้วย
No comments:
Post a Comment