บริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์
ข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ที่เสนอในสภาครองเกรสโดยวุฒิสมาชิก จอห์น บริกเกอร์ แห่งมลรัฐ โอไฮโอ เมื่อปี ค.ศ. 1953 และปี ค.ศ. 1954 ข้อเสนอในบริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์มีวัตถุประสงค์ดังนี้ (1) เพื่อเสริมสร้างบทบาทของสภาครองเกรสในการทำสนธิสัญญา (2) เพื่อจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีในการบรรลุข้อตกลงฝ่ายบริหาร และ (3) เพื่อสร้างหลักประกันว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญเหนือกว่าบทบัญญัติของสนธิสัญญาใด ๆ ข้อเสนอนี้มีอันตกไปเพราะขาดเสียงสนับสนุนไปเสียงหนึ่งทำให้มีคะแนนเสียงไม่ถึงสองในสามในวุฒิสภา
ความสำคัญ บริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์ คือ ฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ในอันที่จะควบคุมความสัมพันธ์ต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา พวกที่ให้การสนับสนุน บริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์ มีแรงกระตุ้นจากความกลัวว่าประธานาธิบดีจะทำสนธิสัญญาที่มีบทบัญญัติขัดกับรัฐธรรมนูญเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในกรณี มิสซูรีกับฮอลแลนด์ เมื่อ ค.ศ.1920 นอกจากนั้นแล้ว ข้อเสนอบริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์นี้ก็ยังสะท้อนให้เห็นความไม่พอใจในข้อตกฝ่ายบริหารในระหว่างสงครามที่กระทำกันที่ยัลตาและปอตสดัมเมื่อปี ค.ศ. 1945 กับสะท้อนให้เห็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของสหประชาชาติในการบังคับใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นต้น หากข้อเสนอบริกเกอร์ อะเมนด์เม้นท์กระทำได้สำเร็จก็หมายถึงการกลับแนวโน้มทางประวัติศาสตร์ไปจากเดิมที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้นำในกิจการต่างประเทศ รัฐบัญญัติ "เคสแอ็คท์" ปี ค.ศ. 1972 และรัฐบัญญัติ "วอร์พาวเวอร์สแอ็คท์" ปี ค.ศ. 1973 เป็นตัวอย่างของความพยายามของฝ่ายสภาครองเกรสที่จะปรับปรุงดุลอำนาจการตัดสินใจในกิจการระหว่างประเทศ โดยที่รัฐบัญญัติเคสแอ็คท์กำหนดให้ประธานาธิบดีจะต้องแจ้งข้อตกลงทางบริหารทุกอย่างที่ประธานาธิบดีกระทำให้สภาครองเกรสได้ทราบ ส่วนวอร์พาวเวอร์สแอ็คท์ก็เป็นความพยายามที่จะจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีในการใช้กำลังทางทหาร
No comments:
Post a Comment