สภาคองเกรส
รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา อันประกอบด้วยวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร จากหลักการที่ว่าทุกรัฐมีความเท่าเทียมกันนั้น จึงทำให้แต่ละรัฐในจำนวนทั้งสิ้น 50 รัฐต่างก็มีวุฒิสมาชิกได้จำนวน 2 คน ซึ่งวุฒิสมาชิกเหล่านี้จะอยู่ในวาระละ 6 ปี แต่ทั้งนี้หนึ่งในสามของวุฒิสมาชิกเหล่านี้จะได้รับการเลือกตั้งในทุก 2 ปี ส่วนสมาชิกภาพในสภาผู้แทนราษฎรนั้นอิงหลักประชากรเป็นสำคัญ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 435 คนจะได้รับการเลือกตั้งในทุก 2 ปี บทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสภาคองเกรสมีดังนี้ (1) อำนาจทางนิติบัญญัติโดยทั่วไป ได้แก่ การจัดตั้งหรือยุบเลิกหน่วยงานต่าง ๆ การกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการค้าและการเข้าเมือง เป็นต้น (2) อำนาจทางบริหารของวุฒิสภาได้แก่ การให้ความเห็นชอบในสนธิสัญญาและการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งบุคคลเป็นเอกอัครราชทูต เป็นต้น (3) อำนาจควบคุมการจัดสรรงบประมาณ (4) อำนาจที่จะดำเนินการสอบสวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของกฎหมายเก่าและความจำเป็นที่จะต้องให้มีกฎหมายใหม่ นอกจากนี้แล้วสภาคองเกรสก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องโดยอ้อมกับกิจการต่างประเทศผ่านทาง (1) มติที่ระบุว่าเป็น "ความรู้สึกของสภาคองเกรส" (2) คำสุนทรพจน์ การเดินทางและกิจกรรมอื่น ๆ ของมวลสมาชิก (3) กิจกรรมของพรรคการเมืองที่อาจจะไปลดหรือเพิ่มความห่างเหินระหว่างทำเนียบขาว(ไว้ท์เฮาส์)กับแคปิตอลฮิลล์
ความสำคัญ หน้าที่หลักของสภาคองเกรสทางด้านกิจการต่างประเทศ เป็นไปตามกรอบกว้างๆของการแบ่งแยกกับการคานและดุลอำนาจตามที่บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้ หลักการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้หลักประกันว่า การกระทำอย่างหนึ่งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของรัฐบาลในการใช้อำนาจตามความชอบธรรมของตนนั้น จะต้องพบกับกิจกรรมตรวจสอบความถูกต้องจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนที่กิจกรรมนั้น ๆ จะบรรลุขั้นสุดท้ายได้ ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าประธานาธิบดีจะรับผิชอบด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศ แต่เงินที่จะนำไปใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายต่างประเทศนั้น จะต้องให้สภาคองเกรสลงคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ ซึ่งทั้งนี้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณจะเริ่มขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรก่อนเสมอ และประธานาธิบดีจะไม่สามารถดำเนินการในขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับสนธิสัญญาหรือการแต่งตั้งตัวบุคคลสำคัญ เช่น เอกอัคราชทูต เป็นต้น ได้จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาเสียก่อน อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่า สภาคองเกรสจะทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายต่างประเทศยิ่งกว่าจะทำหน้าที่สร้างนโยบายเสียเองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้ว จากการที่นโยบายต่างประเทศมีความสลับซับซ้อนและสหรัฐอเมริกาก็มีบทบาทเป็นผู้นำโลกด้วยเช่นนี้ ก็จำเป็นจะต้องให้ประธานาธิบดีทำหน้าที่คอยดูแล ทำการริเริ่ม และแสดงความยืดหยุ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวสภาคองเกรสซึ่งเป็นองค์กรที่จะต้องปรึกษาหารือกันก่อนไม่สามารถจะทำได้ด้วยตนเอง
No comments:
Post a Comment