สภาคองเกรส : อำนาจเกี่ยวกับสนธิสัญญา
อำนาจในการมีส่วนร่วมของวุฒิสภาในปฏิบัติการทำสนธิสัญญาของฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีจะทำการเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาก่อน แต่ทว่าภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการคานอำนาจกันนั้น ประธานาธิบดีจะไม่สามารถให้สัตยาบันสนธิสัญญาได้ จนกว่าวุฒิสภาซึ่งประกอบด้วยวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่สองในสามเข้าประชุมและลงคะแนนเสียงให้ความยินยอมแล้ว ภายใต้อำนาจเกี่ยวกับสนธิสัญญาของสภาคองเกรสนี้ วุฒิสภาอาจจะ (1) ให้ความยินยอมในการให้สัตยาบัน (2) ปฏิเสธที่จะให้ความยินยอม (3) ให้ความยินยอมหลังจากที่ให้แก้ไขบางสิ่งบางอย่างแล้ว และ (4) ให้ความยินยอมในการให้สัตยาบันโดยมีข้อสงวนสิทธิ์บางอย่าง อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายก็มิได้บังคับให้ประธานาธิบดีต้องให้สัตยาบันหลังจากได้รับความยินยอมจากวุฒิสภาแล้ว ถึงแมัว่าคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์วุฒิสภาจะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวกับสนธิสัญญาในสภาคองเกรสก็จริง แต่ก็ยังมีคณะกรรมาธิการคณะอื่นในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระของสนธิสัญญาฉบับนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น สภาผู้แทนราษฎรถึงแม้ว่าจะไม่มีอำนาจเกี่ยวกับสนธิสัญญาโดยลำพัง แต่ก็มีบทบาทสำคัญผ่านทางคณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณ ที่จะให้มีการทบทวนบทบัญญัติของสนธิสัญญาก่อนที่จะได้เสนอแนะให้จัดสรรงบประมาณที่จำเป็นต้องนำไปใช้เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามสนธิสัญญานั้น ๆ
ความสำคัญ บทบาทของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ในกระบวนการทำสนธิสัญญาบ่งบอกให้เราได้ทราบว่า ขั้นตอนให้สัตยาบันมีความสำคัญพอ ๆ กับขั้นตอนเริ่มเจรจาในการทำสนธิสัญญา จากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาคองเกรสมีอำนาจเกี่ยวกับสนธิสัญญานี้เอง ที่ทำให้วุฒิสมาชิกกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐต่าง ๆ ที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ สามารถปฏิเสธความต้องการของสมาชิกส่วนใหญ่ได้ กระบวนการทางสนธิสัญญาในสภาคองเกรสจะมีลักษณะอุ้ยอ้ายเชื่องช้า ทำให้ฝ่ายบริหารต้องเสียเวลาและเสียอารมณ์มากจาก (1) การให้มาชี้แจงซำ้ ๆ ซาก ๆ (2) การให้มีการแก้ไขและการสงวนสิทธิ์ และ (3) ความสามารถขั้นสุดท้ายของวุฒิสภาที่จะสร้างความวุ่นวายใจให้แก่ฝ่ายบริหาร จริงอยู่ประธานาธิบดีอาจจะไม่ถูกตรวจสอบโดยวุฒิสภาโดยอัตโนมัติ แต่ก็ไม่อาจวางใจในข้อเท็จจริงที่ว่าตนอาจถูกตรวจสอบได้ ถึงแม้ว่าสนธิสัญญาส่วนใหญ่ที่ประธานาธิบดีทำเสนอต่อวุฒิสภาจะได้รับความเห็นชอบ แต่ก็มีบางฉบับที่ถูกลงคะแนนเสียงคัดค้าน และก็มีบางฉบับที่ถูกทำลายโดยการ “ดองเรื่อง” ของวุฒิสภา สนธิสัญญาสำคัญ ๆ ที่ไม่ได้รับความยินยอมจากสภาคองเกรส มีตัวอย่างเช่น กติกาสันนิบาติชาติ (ค.ศ. 1919) กฎบัตรองค์การระหว่างประเทศ (ค.ศ. 1948) และอนุสัญญาฆ่าล้างชาติ (ระหว่าง ค.ศ. 1948-1986)
No comments:
Post a Comment