(299 U.S. 304 : 1936)
คดีระหว่างสหรัฐอเมริกากับบรรษัทผู้ส่งออกเคอร์ทิสส์ - ไร้ท์ (299 ยู. เอส. 304 : 1936)
คดีเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่สำคัญ ซึ่งให้การรับรองว่ารัฐบาลกลางมีอำนาจในตัวที่จะควบคุมความสัมพันธ์ต่างประเทศของชาติได้ คดีเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญว่า การทีี่สภาคองเกรสให้อำนาจอย่างมากมายแก่ประธานาธิบดี จนทำให้ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งห้ามการขนส่งยุทธปัจจัยไปให้แก่ประเทศโบลิเวียและประเทศปารากวัยในสงครามแกรนชาโกนั้นเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลสูงได้ให้คำรับรองใน "อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของประธานาธิบดีในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งเดียวของรัฐบาลกลางในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ"
ความสำคัญ คดี "เคอร์ทิสส์-ไร้ท์" นี้ได้วางเป็นหลักการไว้ว่า ในขณะที่อำนาจภายในของรัฐบาลกลางถูกจำกัดด้วยอำนาจที่ได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญหรือจากการตีความรัฐธรรมนูญนั้น อำนาจภายนอกของรัฐบาลกลางตั้งอยู่บนรากฐานที่กว้างขวางกว่า กล่าวคือ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น สหรัฐฯในฐานะที่เป็นรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยย่อมมีอำนาจทั้งปวงในตัวเอง ในฐานะรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง ศาลสูงได้ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า หากมีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็จะทำให้สหรัฐฯมีฐานะต่ำต้อยเมื่อเทียบกับรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยอื่น ๆ ผู้พิพากษาซัดเธอร์แลนด์ได้สรุปเป็นความเห็นของศาลได้ว่า ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ได้กล่าวถึงเรื่องเช่นนี้เอาไว้ แต่อำนาจดังกล่าว "ก็อยู่กับรัฐบาลกลางในฐานะที่เป็นสิ่งจำเป็นคู่กับสัญชาติ" เลยทีเดียว ดังนั้นในด้านกิจการต่างประเทศนั้น การจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีในการดำเนินการเพื่อชาติใด ๆ จะต้องมีการระบุไว้เป็นการแน่นอนในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หลักการของคดี "เคอร์ทิสส์ - ไร้ท์" นี้จึงช่วยอำนวยความสะดวกเป็นอย่างมากในการดำเนินความสัมพันธ์ต่างประเทศของสหรัฐ ฯ ภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ฯ
No comments:
Post a Comment