ลัทธิแยกอยู่โดดเดี่ยว
หลักการที่เห็นว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาจะรักษาไว้ได้โดยการถอนตัวจากการยุ่งเกี่ยวทางการเมืองของประชาคมระหว่างประเทศ ผู้ที่ให้การสนับสนุนลัทธิแยกอยู่โดดเดี่ยวนี้มีสมมติฐานที่อิงแนวความคิดว่า สหรัฐอเมริกามีลักษณะแยกจากที่อื่น ๆ โดยสภาพทางภูมิศาสตร์ โดยอุดมการณ์ และโดยวัฒนธรรม แนวความคิดดังกล่าวมีความดาษดื่นในสหรัฐอเมริกาในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับสงครามโลกครั้งที่สอง
ความสำคัญ ในช่วงระหว่างคริสตศตวรรษที่ 19 ต่อกับต้นคริสตศตวรรษที่ 20 สหรัฐอเมริกาไม่ค่อยจะเข้ามายุ่งเกี่ยวในการเมืองระหว่างประเทศมากนัก แต่ก็ไม่ถึงกับแยกอยู่โดดเดี่ยวอย่างแท้จริง สหรัฐอเมริกาไม่เคยใช้หลักการไม่ยุ่งเกี่ยวในกิจการของแปซิฟิกหรือตะวันออกไกลเหมือนอย่างในยุโรป สหรัฐฯนำหลักการนี้ไปใช้ในกรณีของยุโรปจะเห็นได้จากการที่สหรัฐฯพยายามเป็นกลางในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง จากการที่ได้เกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีของกลางคริสตศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเทคโนโลยีการแยกตัวของปรมาณู ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าหลักการลัทธิแยกอยู่โดดเดี่ยวนี้จะยังใช้ได้อยู่หรือไม่
No comments:
Post a Comment