นโยบายเป็นเพื่อนบ้านที่ดี
นโยบายของสหรัฐ ฯ ต่อละตินอเมริกา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดความกลัวและความหวาดระแวงที่แสดงออกมาจากคำพูดต่าง ๆ อาทิ "แยงกี้ อิมพีเรียลิสม์" (ลัทธิจักรวรรดินิยมแยงกี้) และ "คอลอสซัส ออฟ เดอะ นอร์ธ" (ยักษ์ใหญ่ของภาคเหนือ" ในคำปราศรัยในพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ. 1933 ประธานาธิบดีแฟรงกลิน รูสเวลท์ได้กล่าวถึง "เพื่อนบ้านที่ดีซึ่งให้ความเคารพตัวเองอย่างเต็มที่และด้วยเหตุที่เคารพตัวเองนี้เองเขาจึงให้ความเคารพสิทธิของผู้อื่น" ในช่วงสามสิบปีแรกของคริสตศตวรรษที่ 19 นโยบายต่างประเทศของสหรัฐ มีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ (1) นโยบายทางการทูตดอลลาร์ (2) นโยบายเข้าแทรกแซงทางทหาร (3) นโยบายลัทธิเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว (4) นโยบายที่มีท่าทีว่าฝ่ายตนเป็นเหมือนพ่อคนอื่นเป็นลูก ซึี่งนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ได้สร้างความไม่พอใจในละตินอเมริกา ส่วนนโยบายเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต้องอาศัยแนวความคิดที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับละตินอเมริกา จะต้องดำเนินการโดยอิงพื้นฐานของความเสมอภาคทางด้านอธิปไตยและความร่วมมือซึ่งกันและกัน
ความสำคัญ ภายใต้นโยบายเพื่อนบ้านที่ดีนี้ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาไม่แทรกแซงที่กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัยเมื่อปี ค.ศ. 1933 พอถึงปี ค.ศ. 1934 ก็ได้มีการยกเลิก "เพลตต์ อะเมนด์เม้นท์" ที่จำกัดอำนาจอธิปไตยของคิวบา และได้มีการถอนทหารออกจากประเทศไฮติ ความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ส่งผลให้เกิดสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันในปี ค.ศ.1945 และปี ค.ศ.1947 นอกจากนี้ก็ได้มีโครงการความร่วมมือหลายอย่างภายใต้ร่มธงขององค์การนานารัฐในทวีปอเมริกา (โอเอเอส) อย่างไรก็ตามก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า จากการที่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีอำนาจอย่างเหลือล้น (1) ได้ให้การสนับสนุนระบอบการปกครองที่ประชาชนไม่ชอบ (2) ได้ดำเนินการฝ่ายเดียว เช่น ในกรณีเบย์ออฟพิกส์ (อ่าวหมู) ของคิวบาเมื่อปี ค.ศ. 1961 (3) ได้เข้าแทรกแซงทางทหารในสาธารณรัฐโดมินิกัน เมื่อ ปี ค.ศ. 1965 และในเกรนาดา เมื่อปี ค.ศ. 1983 เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนทำให้ชาวละตินอเมริกันจำนวนมากไม่ค่อยจะเชื่อถือ นโยบายเพื่อนบ้านที่ดีของสหรัฐ ฯ มากนัก
No comments:
Post a Comment